วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Restrepo และ Armadillo: สารคดีร่วมรบ


ถึงสารคดีสองเรื่องนี้จะมาจากคนละประเทศกัน(อเมริกา กับ เดนมาร์ก) แต่ก็มีคอนเซ็ปท์คล้ายๆ กัน ซึ่งก็คือการที่ต่างก็เป็นสารคดีที่ตามถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่าทหารหาญกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญในยามไปประจำการในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งที่ๆ พวกเขาไปนั้นล้วนเป็นจุดล่อแหลมอันตรายสุดๆ เพราะยังมีพวกตาลีบันคอยสร้างสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา จนได้ออกมาเป็นสารคดีพี่สารคดีน้องที่มีเนื้อหาไปกันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยอย่างที่เห็น ว่าแล้วทางบล็อกก็เลยขอนำทั้งสองเรื่องมารีวิวไว้ด้วยกันเสียเลยนะจ้ะ

Restrepo (2010) :
งานนี้พี่กันเขาส่องกันอย่างเดียวเลย
เรื่องแรกนี้เป็นสารคดีอเมริกัน โดยฝีมือการกำกับโดยนักข่าวชาวมะกัน Sebastian Junger และช่างภาพชาวอังกฤษ Tim Hetherington ที่ในช่วงปี 2007 พวกเขาได้ติดสอยห้อยตามทหารมะกัน 15 นายซึ่งต้องไปประจำการยังแถบหุบเขาโคแรงกัล ประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อสร้างด่านหน้าแห่งใหม่ ซึ่งที่นั่นได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ๆ ยังมีการสู้รบดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถานเลยทีเดียวเชียว


นี่คือภาพการรบจริงๆ ไม่ใช่จากหนัง





Armadillo (2010) :

ทหารเดนมาร์กทำไมตาตี่เยี่ยงนั้นเนี่ย
ส่วนเรื่องนี้เป็นสารคดีจากเดนมาร์ก โดยผกก. Janus Metz และทีมงานที่ติดตามมาถ่ายทอดเรื่องราวของทหารเดนมาร์กกลุ่มหนึ่งซึ่งมาทำหน้าที่ในอัฟกานิสถานในช่วงปี 2009 เป็นระยะเวลาหกเดือน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังช่วยเหลือความปลอดภัยนานาชาตินำโดยนาโต (International Security Assistance Force หรือ ISAF) ซึ่งที่ๆ พวกเขาต้องไปประจำการก็นั้นก็อยู่ห่างจากเขตของพวกตาลีบันไม่ถึงกิโลเมตรด้วยซ้ำ ดังนั้นแน่นอนที่ว่างานนี้ต้องมีการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน


ชาวบ้านหน้าตาอย่างกับพวกตาลีบันกันทั้งนั้น





สารคดีทั้งสองเรื่องต่างทำออกมาได้อย่างถึงคุณภาพ โดยสามารถเสนอสิ่งที่ทหารเหล่านั้นต้องเผชิญได้แบบเกาะติดทุกสถานการณ์ ซึ่งก็ต้องชื่นชมผู้สร้างทั้งสองเรื่องที่กล้าเสี่ยงตายจนได้สารคดีแจ่มๆ เหล่านี้มาให้เราได้ดู โดยเฉพาะภาพการปะทะกันระหว่างเหล่าทหารกับพวกตาลีบันนั้นก็สุดแสนจะระทึกใจยิ่งนัก(นึกว่ากำลังดูหนังสงครามสุดมันส์ของ Paul Greengrass อยู่ แต่นี่มันภาพจากเหตุการณ์จริงๆ เน้อ) และนี่คือจุดเด่นของทั้งสองเรื่องที่เราตั้งข้อสังเกตได้จ้า
  • ความเป็นอยู่ของทหารอเมริกันใน Restrepo (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า R) จะออกแนวลำบากลำบนกว่าทหารเดนมาร์กใน Armadillo (ต่อไปขอเรียกว่า A) ที่มีทั้งคอมให้ดูหนังโป๊ เกมให้เล่น โทรศัพท์ดาวเทียมให้โทรหาแฟน สะดวกสบายจริงหนอ
  • ภาระกิจส่วนใหญ่ของทหารใน R จะคอยป้องกันด่านหน้าไม่ให้ใครบุกโจมตี ส่วน A นั้นทหารจะได้ออกไปลั้นลานอกค่ายกันบ่อยกว่า ซึ่งส่งผลให้ A มีภาพการปะทะกันซึ่งๆ หน้ามากกว่าใน R ที่ได้แต่ยิงศัตรูจากในค่าย
  • การนำเสนอของ R จะออกแนวสารคดีมากกว่า A ที่ทำออกมาอย่างกับหนังของ Paul Greengrass (Green Zone [2010) เพราะมีการใช้กล้องถ่ายหลายตัวพร้อมกัน และเน้นถ่ายโคลสอัพใบหน้าเพื่อเน้นอารมณ์ดราม่า โดยไม่มีฉากสัมภาษณ์ให้เห็นเลยสักนิด
  • ใน R เราแทบจะไม่ได้เห็นตัวพวกตาลีบันเลย แต่ใน A จะมีฉากการปะทะกันแบบเห็นๆ และมีภาพศพให้เห็นจะๆ มากกว่า
แต่ทั้งสองเรื่องนั้นก็ยังมีคุณภาพล้นจอพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ซึ่งถึงแม้จะถ่ายทำกันคนละปี คนละเมือง ทหารก็คนละประเทศ แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นความจริงอันเดียวกันที่ว่า การที่เหล่าทหารต่างชาติที่เข้าไปจัดการพวกตาลีบันไม่สำเร็จเสียทีนั้น ก็เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าคนไหนเป็นตาลีบันคนไหนเป็นชาวบ้าน จนหลายครั้งลูกเด็กเล็กแดง ชาวบ้านตาดำๆ และสัตว์เลี้ยงก็เป็นผู้รับเคราะห์ไปเต็มๆ ชาวบ้านจึงไม่อยากให้ความร่วมมือพวกทหารต่างชาติเท่าไหร่ เพราะดูเหมือนพวกเขาจะมาเพื่อฆ่าสัตว์เลี้ยงและชาวบ้านเท่านั้น แต่ถึงช่วยพวกตาลีบันก็จะมาคิดบัญชีกับพวกเขาทีหลังอยู่ดี เป็นอะไรที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจริงๆ เลยนะว่ามั้ย

  • สรุปว่าเป็นหนังสารคดีสุดระทึกที่น่าดูทั้งคู่ ใครที่คิดว่าสารคดีต้องน่าเบื่อเสมอไปนั้นมาดูแล้วจะเปลี่ยนความคิดไปในบัดดล คอหนังสงครามก็น่าจะถูกใจเช่นกันเน้อ

แบ่งปัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น