วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

Lone Survivor (2013): ศึกรบหูตูบ


Lone Survivor (2013): ศึกรบหูตูบ

     มีบางคนแซวว่า ผกก.Peter Berg เป็นร่างทรงของ ผกก.Michael Bay ในผลงานเรื่องก่อนอย่าง Battleship (2012) และพอมาเรื่องล่าสุดนี้แกก็กลายเป็นร่างทรง ผกก.Ridley Scott ไปซะแล้ว ป๊าด แรงส์!

     หนังสร้างโดยอิงจากเหตุการณ์จริง ดังนั้นคงจะไม่ถึงกับตรงตามความเป็นจริงแบบเป๊ะๆ คือต้องมีอะไรปรับเปลี่ยนเพื่อให้ดูสมกับการเป็นหนัง (เพราะนี่ไม่ใช่สารคดี) แต่เท่าที่เห็น ผกก.Berg แกก็ค่อนข้างจะพยายามให้หนังออกมาถูกต้องสมจริงมากเท่าที่จะมากได้แล้วล่ะ โดยเฉพาะเรื่องระเบียบปฏิบัติทางทหารทั้งหลายที่เป๊ะซะ ครั้นจะดูด้านอื่นๆ แกก็สามารถนำเสนอฉากการรบที่เร้าใจ วีรกรรมอันกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของทหารหาญได้เป็นอย่างดี

     หนังออกมาดูดี เต๋าสมชายตั้งแต่หัว แต่ไม่จรดปลายเท้า (มีเล็บขบ) เพราะดูเหมือนหนังจะเน้นการสู้หนีตายของทหารทั้งสี่คนในเรื่องมากไปหน่อย ช่วงท้ายๆ เลยดูเหมือนรีบจบไปซะงั้น เหมือนกับว่า ผกก.แกเล่าเรื่องกำลังมันๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็ดันเหลือบไปเห็นนาฬิกา "อ้าวเฮ้ยเวลาจะหมด ต้องรีบจบแล้วเว้ย!" อะไรหลายอย่างก็เลยดูรวดรัดไปนิด ทั้งที่ถ้าให้เวลาเน้นถึงช่วงครึ่ง ชม.สุดท้ายให้มากกว่านี้หน่อยคงจะแจ่มกว่านี้หลาย โดยเฉพาะเรื่อง "มาช่วยตูทำไม?" เป็นต้น

     จริงๆ แล้ว ผกก.Berg อยากสร้างเรื่องนี้ตั้งนานแล้ว แต่สตูดิโอไม่เปิดไฟเขียวให้ถ้าเขาไม่กำกับหนังเอาใจตลาดอย่าง Battleship ให้ก่อน ซึ่งพอได้ไฟเขียวเขาก็ทุ่มเทให้กับการเขียนบท ค้นคว้าข้อมูล และเข้าไปคลุกคลีกับทหาร ญาติผู้ตาย เพื่อให้หนังออกมาสมจริงให้ได้มากที่สุด แถมยังยอมหั่นค่าตัวของตน ระดมเงินตัวเองและเพื่อนๆ เพื่อสมทบเป็นทุนสร้าง (ดาราหลักๆ ของเรื่องก็ยอมลดค่าตัวเพื่อหนังเรื่องนี้) ย่อมแสดงให้เห็นว่านี่เป็นหนังที่เขาต้องการสร้างออกมาขนาดไหน คงต้องให้เครดิตของการทำเพื่อชาติ (มะกัน) ครั้งนี้ของแกซะแล้วล่ะ

     หาก Battleship คือหนังที่ยกย่องวีรกรรมของทหารเรือโดยเฉพาะเหล่าทหารผ่านศึก หนังเรื่องนี้ก็คือการยกย่องวีรกรรมของทหารหาญหน่วย Navy Seal ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาคอหนังทั่วๆ ไปจะต้องคิดว่ามันจะอะไรกันนักหนากับการสร้างหนังอวยทหารแบบนี้ออกมาทุกบ่อยๆ ของฮอลลีวู้ด แต่ถ้ามองในมุมที่ว่าประเทศอเมริกาทุกวันนี้ซึ่งมีทหารอเมริกันอีกมากมายที่ยังต้องประจำการอยู่ในตะวันออกกลาง (แม้จะมีการทยอยถอนกำลังออกมาเรื่อยๆ ก็ตาม) จึงจำเป็นที่สุดแล้วที่ต้องมีหนังแบบนี้ออกมา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่คนในชาติ และยังได้แสดงเกียรติภูมิของทหารมะกันให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกอีกด้วย จนอย่าแปลกใจว่าเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบก็จะต้องนึกรำพึงในใจไปด้วยว่า แหม่... หนังอเมริกัน นี่มัน อเมริกันจริงจริ๊ง เหอๆ





กลุ่มคนที่น่าจะปลื้มหนังเรื่องนี้ที่สุดคงไม่พ้น คนมะกัน ทหาร และบรรดาติ่งหนังสงครามทั้งหลาย (ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแอดมินเองจ้า ^^) ให้ไปโลด 7/10 ครับ







*ช่วงเพลงในหนัง*
เพลงจบของหนังคือ Heroes เพลงคลาสสิกของศิลปินรุ่นเก๋า David Bowie ที่ถูก Peter Gabriel ศิลปินรุ่นเก๋าอีกรายนำมาคัฟเวอร์อย่างได้อารมณ์เชิดชูวีรกรรมของทหารหาญอย่างที่สุดถึงที่สุด








*รีวิวหนังของ ผกก.Peter Berg เรื่องอื่นๆ ภายในบล็อก*


วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

Rigor Mortis (2013): ผีกัดต้องศอกกลับ



Rigor Mortis (2013): ผีกัดต้องศอกกลับ 

     หากคุณแก่พอ คงต้องคุ้นเคยกับหนังผีจีนตลกปนบู๊ชุด 'ผีกัดอย่ากัดตอบ' (Mr. Vampire) เป็นแน่ เพราะเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วมันคืออะไรที่ฮิตซะ ฮิตขนาดที่ว่ามีหนังทำนองนี้ถูกสร้างตามกระแสออกมาหลายเรื่อง ส่วนเจ้าของหนังในไทยก็จะต้องตั้งชื่อให้มีคำว่า'ผีกัด'ปนเข้าไปด้วยซะทุกเรื่อง ไม่ว่ามันจะกัดมากกัดน้อยแค่ไหนก็ตามที

     มาวันดีคืนดี ปี ค.ศ.2013 ผกก./นักแสดงหนุ่มสุดแนวจากฮ่องกง Juno Mak ก็ขอลุกขึ้นมาทำหนังแนวผีกัดบ้าง ซึ่งเขาบอกว่ามันไม่ใช่ภาคต่อ ไม่ใช่ภาคก่อนหน้า แต่เป็นการอุทิศให้กับหนังแนวนี้ ด้วยมุมมองของยุคปัจจุบัน แถมตั้งชื่อเรื่องได้เข้าท่าสุดๆ นั่นคือ Rigor Mortis ที่หมายถึง"สภาพศพแข็งทื่อหลังตาย" นั่นเอง

     ที่น่าจะโดนใจแฟนดั้งเดิมคือของใหม่ยังได้นักแสดง เฉิน เสี่ยวโหว พระเอกที่แทบจะเป็นสัญลักษณ์ดังมากับหนังชุด ผีกัดอย่ากัดตอบ มาเล่นเป็นพระเอกให้ด้วย ในบทนักแสดงหนังผีกัดที่เคยโด่งดังในอดีต แต่ปัจจุบันตกอับแถมมีปัญหาชีวิตจนคิดสั้นมาเช่าแฟลตซอมซ่อแห่งหนึ่งเพื่อกะฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้แรด แต่ดันไปเช่าแฟลตที่มีผีเหี้ยนเต็มไปหมดซะนี่

     แถมยังมีแต่นักแสดงฮ่องกงรุ่นเก่าๆ จากหนังชุดนี้โผล่มาให้หายคิดถึงกันหลายคน เช่น อู๋เอี่ยวฮั่น หรือที่สมัยก่อนโด่งดังเป็นรู้จักในนาม 'ปอมซ่า' ซึ่งปัจจุบันแก่เป็นคุณตาแล้ว ก็มาร่วมแจมในบทผีกัดประจำเรื่อง

     ครั่บ ส่วนตัวหนังนั้น ผกก.Mak แกขอตัดความตลกอย่างต้นแบบออกไป แล้วขอหันมาเน้นดราม่า แอ็คชั่น เลือดสาดและเอฟเฟกต์ซีจีแทน ซึ่งก็โอเคดีนะ เพราะหนังดูจริงจังและมีสไตล์ดี บางฉากบางตอนนี่น่ากลัวใช้ได้เลยทีเดียว แต่เสียดายที่ ผกก.แกดูจะเน้นสไตล์เล่นท่ายากไปหน่อย ช่วงหลังๆ เลยดูชวนสับสนไปนิดและจบแบบไม่สะใจคอหนังผีชุดนี้สักเท่าไหร่



น่าดีใจที่มีคนทำหนังแนวนี้ออกมาให้ดูกันอีก แม้จะยังไม่ค่อยถูกใจนักก็เหอะ ให้ 5/10 ครับ





วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

The Wolf of Wall Street (2013): ขบวนการรวย-ปลิ้น


The Wolf of Wall Street (2013): ขบวนการรวย-ปลิ้น

     ตีคู่กันมาเป็นครั้งที่ห้าแล้วสำหรับเฮีย Leonardo DiCaprio และ ผกก.Martin Scorsese ซึ่งครั้งนี้น่าจะทำให้ทั้งคู่กอดคอกันแหววได้ไม่แพ้ครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะหนังติดอันดับต้นๆ ของหนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2013 และได้เข้าชิงออสก้าร์อีกห้ารางวัลเสียด้วยแน่ะ

     หนังสร้างจากเรื่องจริงในช่วงยุค 90 ของยอดชายนาย Jordan Belfort (รับบทโดยเฮียลีโอ) นายหน้าซื้อขายหุ้นหนุ่มหัวใสที่ค้นพบลู่ทางรวยแบบโกงๆ จากการค้าหุ้น จนเขาและพวกพ้องพากันรวยเละเทะก่อนที่ความซวยจะมาเยือนโดนเอฟบีไอตามเฉ่งในเวลาต่อมา

     ผกก.Scorsese ทำหนังออกมาให้ออกแนวเสียดสี ตลกร้าย ที่เต็มไปด้วยฉากมั่วเซ็กส์ เหล้ายา อบายมุข ที่ค่อนข้างโจ๋งครึ่ม จนติดเรทอาร์แก่ๆ (นับเป็นหนังที่มีการพูดคำว่า 'Fuck' เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์คือ 500 กว่าครั้ง)

     หนังยาวสามชั่วโมงและเต็มไปด้วยบทสนทนา แต่กลับดูสนุกไหลลื่น ไม่น่าเบื่อสักนิด แม้ว่าฉากเมาปลิ้นหลายฉากจะชวนให้นึกว่ามาจากหนัง The Hangover ก็มิปาน นับเป็นหนังของป๋าสกอร์เซซีที่กวนและเกรียนสวนทางกับอายุแกชนิดที่ถ้าไม่รู้ อาจนึกว่าหนังกำกับโดย ผกก.รุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังได้ ยังไงก่อนดูก็อย่าลืมดื่มน้ำปัสสาวะ (ขอใช้มุกนี้อีกครั้ง อิอิ) อะไรให้เรียบร้อยเน้อ หนังมันยาว

     บรรดานักแสดงก็ขนกันมาเพียบ (ผกก.Spike Jonze ก็โผล่มาร่วมแจมในฉากหนึ่งด้วยนะ) ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดีทั้งนั้น นี่เห็นลีลาสุดเหวี่ยงของเฮียลีโอในเรื่องแล้ว ก็นึกลุ้นให้ได้ออสก้าร์นำชายไปนอนกอดเสียทีเหอะ เฮียแกจะได้เลิกโดนล้อเรื่องอยากได้ออสก้าร์จนใจจะขาดเสียที

     หนังไม่ได้เชิดชูวีรเวรของพวกพระเอกสักนิด แต่มุ่งเสนอให้เห็นถึงความไร้สาระบ้าบอ ความเหลวไหลเหลวแหลกของคนเราที่อยากมีเงินเยอะๆ จนยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อมัน ซึ่งก็มีให้เห็นทั่วไปในสังคม แต่ครั้นได้เงินมาเยอะๆ ง่ายๆ ก็มักขาดสติความยั้งคิด ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงหาความสุขแบบผิดๆ เท่าที่เงินจะหาซื้อให้ได้ ก่อนที่จะจบลงแบบสอนสัจธรรมชีวิตสุดคลาสสิกอย่าง หว่านสิ่งใดลงไปก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเอง

     ภาพจบของหนังที่ฉายให้เห็นใบหน้าอันกระหายใคร่รู้และเต็มไปด้วยความหวังของบรรดาคนที่เข้าร่วมงานสัมนาชี้ช่องรวย สรุปไว้อย่างชวนคิดว่า ใครๆ ก็อยากจะรวยกันทั้งนั้นแหล่ะ แต่จะมีสักกี่คนที่มีโอกาสรวยได้ดังหวัง จะมีสักกี่คนที่มองเห็นโอกาส มองเกมออก และลุกขึ้นมาคว้าโอกาสเหล่านั้นให้เป็นของตนได้สำเร็จ แม้ว่ามันอาจจะต้องหมายถึงการต้องโกงเกม ฉวยโอกาสบนความทุกข์ของคนอื่นก็ตามที เอาจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้คนแบบพวกพระเอกยังมีอีกเยอะ และจะไม่มีวันหมดไป ตราบใดที่เงินยังเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของชีวิตคนเรา ใครบ้างล่ะที่จะเหม็นเบื่อเงิน ไม่มี๊




หนังดีดูเพลินมีแง่คิดเยี่ยงนี้ ให้ 8/10 ครับ


ปล.คนที่เคยอยู่ในบรรยากาศของงานสัมนาของบริษัทขายตรง ธุรกิจเครือข่าย หรืองานขายประกัน คงจะตบเข่าฉาดกับฉากพูดโมติเวทของพระเอกในหนัง เพราะใช้หลักการเดียวกันเป๊ะ เอ้า นักพูดโมติเวททั้งหลายดูหนังแล้วเอาไปใช้เร๊ว


เปรียบเทียบ Jordan Belfort ตัวจริงกับในหนัง
ปล.1 ทุกวันนี้ Jordan Belfort ตัวจริงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นวิทยากรสัมนาชี้ช่องรวย ซึ่งบอกได้เลยว่าเขายังเอาตัวรอดได้สบายๆ แถมยังฉลาดได้อีก ลองคิดดูว่าหนังเรื่องนี้จะส่งให้ชื่อเสียงเขาโด่งดังขึ้นไปอีกแน่ ทีนี้คนจะแห่กันไปฟังเขาพูด ว่าคิดยังไงทำยังไงถึงจะรวยเละได้อย่างเขาบ้าง และพร้อมใจกันทำลืมๆ ไปเลยว่าเขาเคยทำอะไรผิดมาก่อน





*รีวิวหนังของ ผกก.Scorsese เรื่องอื่นๆ ภายในบล็อก*
 

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

I, Frankenstein (2014): ไอ้แฟร้งค์สู้ศึก





I, Frankenstein (2014): ไอ้แฟร้งค์สู้ศึก

     จั่วหัวว่ามาจากผู้สร้างหนังชุด Underworld ในที่นี้คือคุณ Kevin Grevioux ซึ่งเป็นผู้แต่งเรื่องทุกภาค ที่มาคราวนี้หนังก็มาจากนิยายภาพของแกแถมยังดอดมาร่วมแจมในบทลิ่วล้อตัวโกงอีกต่างหาก

     ครั่บ ดังนั้นหนังจึงเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับ Underworld แบบเห็นๆ แต่ในแบบที่ไม่เลือดสาดเท่าเพราะขอซัดกันเบาะๆ แค่เรทพีจี-13 เท่านั้น หนังเดินเรื่องเร็วไม่มีจอดแวะข้างทางให้ผู้โดยสารลงไปดื่มน้ำปัสสาวะ (จงใจไม่เว้นวรรค อิอิ) แล้วก็เดินหน้าดุ่ยๆ ไปจนจบ ส่งคนดูเดินออกจากโรงแบบขอทิ้งเชื้อ ถ้าเกิดว่าหนังทำเงิน คงได้เจอไอ้แฟร้ง(เค่นสไตน์) อีกเป็นแน่ล่ะงานนี้

     และนี่คือจุดอ่อนสำคัญกับการที่หนังมาไวไปไวเลยไม่ค่อยมีอะไรติดหูติดตาติดใจคนดูสักเท่าไหร่ ผู้สร้างคงกลัวคนดูเบื่อเลยพยายามตัดช่วงปูเรื่องให้น้อยที่สุด คือโผล่มาก็ซัดกันเลย ทำให้เกิดการไม่ผูกพันกับตัวละคร ดังนั้นคนดูจึงได้แต่เพียงปะติดปะต่อเรื่องราวของไอ้แฟร้งค์เอาเองว่าช่องว่างที่พี่แกหายไปสองร้อยปี พี่แกไปทำอะไรมาบ้าง เท่าที่นึกออกก็มี ไปหัดอ่านหนังสือ ไปตัดผม ไปเรียนศิลปะป้องกันตัวกระบองคู่ของฟิลิปปินส์ ;P

     ไม่ใช่ว่าหนังห่วยนะ งานด้านเอฟเฟกต์ใช้ได้เลยทีเดียว แต่หนังโดยรวมยังเฉยๆ มาไวไปไว ไม่หือไม่อือไปนิดเท่านั้นแหล่ะ นี่รู้มาว่ารอบสื่อบ้านเรา มีการขอให้สื่องดการพูดถึงตัวหนังในโซเชียลเน็ตเวิร์คจนกว่าหนังจะเข้าฉายจริงอีกด้วย เอ๊ะมันยังไง หึๆ



หนังอยู่ระดับกลางๆ ไม่ดีไม่แย่ ดูเอาเพลินได้อยู่แม้จะไม่เพลินมากนักก็เหอะ 5/10 ครับ





วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

12 Years a Slave (2013): ทาสในเรือนเหี้ยม (มอม้าหาย)



12 Years a Slave (2013): ทาสในเรือนเหี้ยม (มอม้าหาย)

     หนังดราม่าหนักๆ จากเรื่องจริงที่ติดโผหนังดีที่สุดแห่งปี 2013 อยู่หลายสำนัก จนสามารถซิวรางวัลลูกโลกทองคำสาขาหนังดราม่ายอดเยี่ยมมาครอง รวมทั้งได้เข้าชิงออสก้าร์อีก 9 รางวัล (ประกาศผล 2 มี.ค.นี้) แบบนี้ไม่เรียกว่าคุณภาพคับไหก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

     หนังดัดแปลงจากหนังสือบันทึกความทรงจำของ Solomon Northup ชายผิวหมึกที่เป็นไท (ไม่มียอยักษ์) แต่ดันถูกลักพาตัวไปขายเป็นทาสตกระกำลำบากอยู่อย่างงั้นกว่า 12 ปีเลยเชียว

     ผลงานหนังยาวเรื่องที่สามของ ผกก.ผิวหมึกชาวอังกฤษ Steve McQueen เรื่องนี้เสนอเรื่องราวชีวิตบัดซบของคนเป็นทาสในอเมริกาช่วงก่อนสงครามกลางเมืองและประกาศเลิกทาส (เหตุการณ์ในหนังเริ่มปี ค.ศ.1841 แต่สงครามกลางเมืองเริ่มปี ค.ศ.1861-1865) ได้อย่างสุดชีช้ำ ระกำทรวง หนังหดหู่สะเทือนอารมณ์กันทั้งเรื่อง ในแบบที่ท่านจะดูไปขมวดคิ้วไปตลอดงานก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (แถมยังจะน้ำตาแตกได้อีกในบางฉาก) บางคนก็อาจจะบอกว่าหนังจะคาดคั้นอารมณ์คนดูกันไปถึงไหน ซึ่งนั่นก็ตรงตามจุดประสงค์ของ ผกก.เขาล่ะ ที่อยากเสนอให้รับทราบว่าการเป็นทาสผิวดำในยุคนั้นมันชีวิตบัดซบขนาดไหน

     นักแสดงทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนทำหน้าที่กันได้ดีทั้งสิ้นในแบบที่ถ้าจะไปซิวรางวัลอะไรมาได้ เราก็จะขออนุโมทนาสาธุด้วยชนิดไม่มีหือไม่มีอือเอ๊ะอ๊ะหรือขัดเคืองหัวใจสักนิด

     หนังแสดงให้เห็นกันอยู่ตลอดคือการที่นายทาสคนผิวขาวส่วนใหญ่มองคนผิวสีที่ตกเป็นทาสว่าเป็นเพียงสมบัติชิ้นหนึ่งของตน ที่จะทำอะไรกับมันก็ได้ คือแทบจะไม่มองทาสในฐานะมนุษย์ด้วยซ้ำ ทาสบางคนอาจโชคดีหน่อยที่เจอนายดีๆ แต่อีกมากมายที่ต้องเจอกดขี่ข่มเหงอย่างแสนสาหัส ที่พวกเขาทำได้เพียงแค่ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมที่ตนไม่ได้เป็นคนเลือกขีดเขียนให้มาเจอด้วยซ้ำไป

     เราอาจจะคิดว่าเรื่องราวแบบนี้มันห่างไกลเกินตัวจากเรามากนัก ก็ไม่รู้สินะ อเมริกาเลิกทาสไปเกือบร้อยห้าสิบปีแล้ว ส่วนไทยเราเลิกทาสไปร้อยเก้าปีนี่เอง ว่ากันว่าบ้านเมืองเราสมัยโน้นมีทาสเยอะถึงหนึ่งในสามของจำนวนประชากรทั้งหมด ลองคิดเล่นๆ ว่าบรรพบุรุษของเราหลายคนก็คงจะเคยเป็นทาสมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเราหลายคนก็คือลูกหลานของทาส คิดในมุมนี้ได้ก็อาจจะดูหนังเรื่องนี้ได้อินขึ้นก็เป็นได้นะ แต่เอ๊ะ อเมริกาเขาซื้อชาวแอฟริกันมาเป็นทาสเลยไม่ได้มองว่าเป็นคน เพราะคนละเชื้อชาติกัน มาจากต่างที่ต่างถิ่นกัน แต่ไทยเราสิฮาร์ดคอร์ว่า เอาคนไทยด้วยกันเป็นทาสซะเลย แม้ส่วนใหญ่จะสมัครใจเป็นทาสก็เถอะนะ มองในแง่ดี ทาสบ้านเราคงไม่ลำบากขนาดนั้น (มั้ง) แต่ไม่รู้สินะ ขึ้นชื่อว่าทาสจะสบายแค่ไหนก็ไม่ดีทั้งนั้นแหล่ะ ไม่งั้นเขาจะเลิกทาสกันเร๊อะ จริงมั้ย?


คนที่ชอบดูหนังดราม่าระดับคุณภาพคงจะโดนใจไม่ใช่น้อย ส่วนคนที่สนใจอยากศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกาดูแล้วคงจะได้แง่มุมที่กว้างขึ้น หนังเขาดีจริง เอาไป 8/10 เลยครับ







*รีวิวหนังของ ผกก.Steve McQueen เรื่องอื่นๆ ภายในบล็อก*
 

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

Jack Ryan: Shadow Recruit (2014): สายลับหัดลุ้น


Jack Ryan: Shadow Recruit (2014): สายลับหัดลุ้น

     Jack Ryan ตัวละครเลื่องชื่อของ Tom Clancy (นักเขียนนิยายแนวสายลับการเมืองการทหารผู้ล่วงลับไปเมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อน) ถูกนำมาขึ้นจอเงินมาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น The Hunt for Red October (1990) ที่นำโดย Alec Baldwin ก่อนที่ลุง Harrison Ford จะมารับช่วงต่ออีกสองภาคใน Patriot Games (1992) และ Clear and Present Danger (1994) ก่อนที่จะทิ้งช่วงไปหลายปีและก็กลับมาเดี้ยงกับการพยายามนำตัวละคร Ryan กลับมารีบู๊ทอีกครั้งเมื่อปี 2002 ใน The Sum of All Fears ที่นำโดยเฮีย Ben Affleck

     ล่าสุดตัวละครนี้ก็กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งจนได้ ซึ่งคราวนี้ผู้ที่มารับช่วงต่อคือหนุ่ม Chris Pine โดยจะว่ากันที่เรื่องราวตั้งแต่สมัยที่ Jack Ryan ยังเพิ่งเริ่มเป็นซีไอเอหนุ่มไฟแรงแต่ด้อยประสบการณ์ภาคสนามที่ต้องจับพลัดจับผลูมาบู๊แหลกชนิดแทบเอาตัวไม่รอด

     ผู้สร้างขอเอาแค่ชื่อ Jack Ryan มาใช้ ไม่ได้หยิบเอานิยายเล่มไหนของ Clancy มาดัดแปลงเยี่ยงเรื่องที่ผ่านๆ มา ดังนั้นจึงสามารถนำตัวละครนี้มาอัพเดตให้ทันยุคทันสมัยอินเทรนด์ได้โดยง่าย ซึ่งตัว ผกก.Kenneth Branagh (จาก Thor ภาคแรก) ที่เมื่อก่อนถนัดแต่ทำหนังเชคสเปียร์ก็สามารถทำให้หนังออกมาได้ดูสนุกมีลุ้นดีทีเดียว (แถมแกยังมาเล่นเป็นตัวโกงอีกด้วยนะ)

     ในขณะที่หนุ่ม Pine ที่ตอนแรกดูท่าจะไม่เหมาะกับตัวละครนี้เท่าไหร่ เพราะ Jack Ryan ในภาพจำของคนส่วนใหญ่จะเป็นตัวละครที่สุขุมเน้นบุ๋นมากกว่าบู๊ (แต่ถึงคิวบู๊ก็เอาตัวรอดได้) แต่ในหนังเขาสามารถสอบผ่านได้สบายในบท Ryan ที่เพิ่งออกภาคสนามที่ต้องมีตื่นเวทีมือไม้สั่นลนลานยามเจองานเข้า

     ส่วนอีกคนที่โดดเด่นคือลุง Kevin Costner ที่มารับบทสมทบแบบแก่ๆ เท่ๆ ดูทะมัดทะแมงใช้ได้เลยทีเดียว

โฉมหน้า Jack Ryan ทั้งสี่คนสี่รุ่น
     เสียแต่ว่าหนังก็ยังคงเป็นหนังแอคชั่นทริลเลอร์สายลับแบบเดิมๆ ที่ไม่มีอะไรพิเศษหรือโดดเด่นมามอบให้ และยังคาดเดาได้ ทว่าโดยรวมแล้วก็ยังถือว่าออกมาดูสนุก มีลุ้นทีเดียว ดังนั้นการกลับมาครั้งนี้ของ Jack Ryan ก็น่าจะไปได้สวยอยู่นะ (แต่คนดูส่วนใหญ่หรือแฟนดั้งเดิมจะยินดีต้อนรับหรือเปล่านั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง)

     อาจจะไม่ใช่ตัวละครสายลับที่เท่แต่มีปมหรือเนี้ยบแต่บู๊ลุยแหลกเท่า Jason Bourne หรือ James Bond แต่หากจะว่าถึงสายลับที่เน้นบุ๋นแต่ไม่ทิ้งบู๊แถมยังมีตัวตนที่เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ปถุชนทั่วไปที่สุดแล้วล่ะก็ ขอฝากตัวละคร Jack Ryan ไว้ในอ้อมใจของคอหนังด้วยคนนะครับเน้อ



สำหรับเราแล้ว การกลับมาคราวนี้ของ Jack Ryan ดูสนุกดูเพลินไม่เสียเส้น เอาไปโลด 7/10 ครับ ^^







*ช่วงย้อนรอยหนัง Jack Ryan*
The Hunt for Red October (1990)
การเปิดตัว Jack Ryan ครั้งแรกบนแผ่นฟิล์ม ที่ได้พระเอก Alec Baldwin ที่ยังไม่ค่อยดังในตอนนั้นมารับบท Ryan ซีไอเอนักวิเคราะห์มาดหล่อเนี้ยบที่ได้ใจคนดูสาวๆ ไปเต็มๆ ในขณะที่หน้าหนังก็ขายปู่ Sean Connery แบบเน้นๆ ซึ่งก็ถือว่านี่คือบทที่น่าจดจำที่สุดในยุคหลังๆ ของแกแล้ว ตัวหนังโดยฝีมือของ ผกก.John McTiernan (แห่ง Die Hard ภาคแรก) ประสบความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่อง (ทำเงินไปกว่า 200 ล้าน) ส่งผลให้อนาคตของ Jack Ryan บนแผ่นฟิล์มดูเจิดจ้ายิ่งนัก






Patriot Games (1992)
อีกสองปีถัดมา Jack Ryan กลับมาอีกครั้งแต่พระเอก Alec Baldwin ดันถอนตัวเพราะไม่ประสงค์จะรับบทนี้อีกต่อไปทำให้พาราเม้าท์ต้องหาพระเอกคนอื่นมาเสียบและผลก็ออกมาที่ป๋า Harrison Ford ที่ก็มาเรียกคนดูได้ดี(แม้จะมีแฟนนิยายหลายคนยี้ก็ตาม) หนังทำเงินไปกว่า 178 ล้าน แม้หนังโดยฝีมือของ ผกก.Phillip Noyce จะไม่เด็ดเท่าภาคแรกก็ตาม






Clear and Present Danger (1994)
ป๋า Harrison Ford ได้กลับมาในบท Jack Ryan อีกครั้งพร้อมด้วย ผกก.Phillip Noyce ซึ่งหนังก็ทำเงินไปเยอะสุดในสามภาคคือ 215 ล้าน แต่คำวิจารณ์ออกมาก้ำกึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเราถือว่าสนุกน้อยสุดในสามภาคก็ว่าได้







The Sum of All Fears (2002)
การพยายามปลุกชีพของ Jack Ryan อีกครั้งของพาราเม้าท์ที่คราวนี้เข็นหนุ่ม Ben Affleck ซึ่งกำลังมาแรงในตอนนั้นให้มารับบท Ryan ในเวอร์ชั่นหนุ่มฟ้อ ส่วนตัวหนังในมือของ ผกก.Phil Alden Robinson นั้นก็ออกมาดูสนุกใช้ได้ ทว่าดูเหมือนการที่หนังทำเงินในอเมริกาไปแค่ 118 ล้านจะยังไม่ดีพอสำหรับพาราเม้าท์ และทำให้ชื่อของ Jack Ryan หายไปจากโรงหนังนับตั้งแต่นั้นมาจนภาครีบู๊ทปี 2014 นี้