วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

House of Cards (2013): แบไต๋นักการเมือง




House of Cards (2013): แบไต๋นักการเมือง

     นอกจากเทรนด์รีเมคหนังโรงของอเมริกาจะฮ็อตฮิตติดลมบนมานานแล้ว ในระยะหลังๆ นี้ยังลามเป็นกลากไปฮิตถึงในวงการหนังทีวีอีกด้วย ซึ่งก็รวมถึงซีรี่ส์แนวดราม่าการเมืองเรื่องนี้ ที่เป็นการเอาซีรี่ส์คุณภาพชื่อเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.1990 ของอังกฤษมาแปลงสัญชาติเป็นอเมริกันซะเลย

     ที่น่าสนใจคือมันถูกสร้างโดย Netflix ผู้ให้บริการดูหนังผ่านเน็ตรายใหญ่ ซึ่งลงทุนจีบ ผกก.David Fincher ให้มาดูแลการผลิต (และกำกับสองตอนแรก) และปล่อยทั้ง 13 ตอนของซีซั่นแรกออกมารวดเดียวให้ดูกันแบบไม่ต้องขาดช่วงเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมานี่เอง

     ซีรี่ส์เสนอเรื่องราวของ Frank Underwood (Kevin Spacey) นักการเมืองรุ่นเก๋าและวิปรัฐบาลที่งัดกลเม็ดเด็ดพรายทุกอย่างเพื่อช่วงชิงอำนาจในเกมการเมืองมาเป็นของตน แม้ว่ามันอาจจะทำให้คนอื่นๆ รอบข้างรวมถึงประชาชนต้องประสบกับชะตากรรมที่น่าอนาถก็ตาม (ฟังดูคุ้นๆ มั้ย?)

     พอพูดถึงเรื่องนักการเมือง เกมการเมืองแล้ว หลายคนคงกรอกตาด้วยความระอา แต่ช้าก่อน ซีรี่ส์นี้ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ท่านคิด เพราะนอกจะตีแผ่ให้เห็นถึงธาตุแท้ของนักการเมืองแล้ว ยังทำออกมาได้อย่างน่าติดตามซะจนอย่าได้แปลกใจหากท่านจะดูรวดเดียวหลายตอนด้วยความอยากรู้อยากเห็น (แม้ซีรี่ส์จะเต็มไปด้วยบทสนทนาก็ตามที)






     ทางด้านทีมงานนักแสดงด้วยอยู่ในระดับดีหนึ่งประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะป๋า Spacey ที่เล่นดีจริงอะไรจริงจนน่าจะซิวรางวัลการแสดงได้ในภายภาคหน้า ด้วยบทนักการเมืองที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นคนที่'ชั่วช้า' ด้วยท่าทีที่เก๋าเกม ฉลาดเป็นกรด เท่าทันเกมการเมือง มีวาทะศิลป์ และพร้อมจะแทงทุกคนข้างหลัง ครบสูตรนักการเมืองตัวจริงดีแท้ (แต่ถึงจะชั่วขนาดนั้นคนดูก็ยังแอบเอาใจช่วยให้ป๋าชนะอยู่ดี อิอิ ;P) 



     อีกอย่างที่เก๋คือแทนที่จะใช้เสียงบรรยายความคิดของตัวละครป๋า ก็เปลี่ยนไปให้ป๋าคอยหันหน้ามาพูดกับกล้อง (คนดู) มันซะเลย เพื่อเล่าความคิดของตนหรือเหลียวมามองอยู่เป็นระยะ ซึ่งให้ความรู้สึกที่เย้ยหยันและราวกับว่าเขาทำหน้าที่เป็นไกด์พาเราไปทัวร์โลกของเกมการเมืองยังไงยั้งงั้น


     ด้าน ผกก.ก็แบ่งกันมากำกับคนละสองสามตอนอันมีทั้ง ผกก.Fincher, Joel Schumacher, Allen Coulter, Carl Franklin, James Foley, Charles McDougall ซึ่งเรียกได้ว่าแต่ละคนมีเครดิตดีๆ ติดตัวมาแล้วทั้งนั้นไม่ว่าจะจากวงการหนังโรงหรือหนังทีวีก็ตาม


     ซีรี่ส์ทำให้เข้าใจธรรมชาติของเกมการเมืองที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าไปเล่นเกมการเมืองเพื่อตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว คือเริ่มแรกเขาอาจจะมีความตั้งใจดีที่จะทำเพื่อประเทศชาติประชาชน แต่เมื่อเขาได้เข้าไปอยู่ในวังวนแห่งอำนาจแล้ว มันจะค่อยๆ เปลี่ยนเขาให้กลายเป็นนักการเมืองมืออาชีพอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะถ้าหากเขาไม่เปลี่ยนตนเองตามเกม ก็คงจะเอาดีทางนี้ไม่ได้ (เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนดีถึงเล่นการเมืองไม่ค่อยรุ่ง) ที่สำคัญจงอย่าลืมว่าอำนาจมันช่างหอมหวาน จนทำให้เรายอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้มันมาครอง แม้แต่การสละจิตวิญญาณของตนเองก็ตามที





เรียกได้ว่าเป็นซีรี่ส์โคตรดีที่นานๆ จะหลุดมาให้ดูที โดนใจอย่างนี้เอาไปโลด 9/10 เลยจ้า



ปล.ใครอยากดูคงต้องหาดูทาง Netflix หรือจะโหลดบิทเอาก็ได้ ยังไงก็หวังว่าในอนาคตจะมีแผ่นหรือลู่ทางที่หาดูได้ง่ายกว่านี้ ซีรี่ส์ดีๆ อย่างนี้ไม่อยากให้พลาดกันจ้า :)





วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

A Good Day to Die Hard (2013): พ่ออึดสอนลูกอึด




A Good Day to Die Hard (2013): พ่ออึดสอนลูกอึด

     ด้วยอานิสงส์ของการที่เหล่านักบู๊รุ่นเก๋าจากยุค 80 กลับมาเป็นที่สนใจของคนดูหนังอีกครั้ง ทำให้หนังชุดคนอึดเดินทางมาถึงภาคที่ห้าจนได้ ซึ่งคราวนี้ป๋า Bruce Willis ขอไปบู๊เถิดเทิงถึงรัสเซียกันเลยทีเดียว

     สำหรับคนที่โต (และแก่) มากับหนังชุดนี้เช่นเรา ก็คงอดไม่ได้ที่จะตามไปอุดหนุนทุกครั้งทุกคราที่มีภาคใหม่ออกมา แม้ว่าภาคหลังๆ จะโดนใจน้อยลงๆ ทุกทีก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงภาคนี้ที่ถ้าจะถามว่าบู๊กันมันส์มั้ย ก็ต้องบอกว่ามันส์ เพราะหนังใส่มาเต็มที่ทั้งฉากวินาศสันตะโร ระเบิดกระต๊อบเผาเพิงหมาแหงน ไม่ได้หยุดได้หย่อนกับเวลา 97 นาทีของหนัง (นี่เป็นภาคที่สั้นที่สุดในห้าภาคแล้ว)

     แต่ถ้าจะถามหาอะไรโดนๆ เด็ดๆ สดใหม่หรือแม้แต่เสน่ห์ดั้งเดิมของหนังชุดนี้นั้นคงไม่มีให้ เพราะพระเอกเรากลายสภาพเป็นน้องๆ คนเหล็กที่ต่อให้เจอสถานการณ์ที่อันตรายแค่ไหน เขาก็สามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยรอยขีดข่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

     ดังนั้นนี่จึงหนังแอ็คชั่นบู๊กระหน่ำที่มาพร้อมกับสูตรสำเร็จเดิมๆ ที่ดูกันเพลินๆ ตอบโจทย์ความบันเทิงชั่วคราวได้ หากไม่ต้องการคิดอะไรมาก แต่หากต้องการอะไรเด็ดๆ หรืออยากเห็นเสน่ห์ที่ทำให้ภาคแรก ขึ้นหิ้งหนังบู๊คลาสสิกนั้นก็ลืมไปได้เลย (อย่างการที่พระเอกเป็นเหมือนคนธรรมดาที่บาดเจ็บจากการบู๊และใช้สติปัญญามากกว่ากำลัง หรือก็คือโม้แต่โม้ได้เนียนนั่นแหล่ะ) เพราะที่หลงเหลือมาถึงภาคนี้ก็มีเพียงแค่ชื่อตัวละคร "John McClane" เท่านั้น




ปล.ป๋าแกบอกว่าจะขอทำถึงภาคหกแล้วค่อยปลดเกษียณจากหนังชุดนี้




บู๊กระหน่ำดูเพลิน แต่ว่าดูจบแล้วก็แล้วกันไป ให้ไป 6/10 เพราะกะไปดูเอามันส์อย่างเดียวครับ





วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

7 Days (2010): สัปดาห์สางแค้น




7 Days (2010): สัปดาห์สางแค้น

     หนังแคนาดาที่พูดฝรั่งเศสเรื่องนี้ว่าด้วยการแก้แค้นแสนซาดิสม์ เมื่อคุณพ่อที่ลูกสาววัย 8 ขวบถูกข่มขืนแล้วฆ่า ตัดสินใจชิงผู้ต้องหาจากทางการไปล้างแค้นด้วยวิธีของตนเองให้สะใจคอซาดิสม์กันไปข้าง

     พูดถึงฉากทรมาน คอหนังแนวทรมานบันเทิงคงถูกใจกัน เพราะหนังค่อนข้างรุนแรง มีหลายฉากที่ชวนคลื่นไส้ หวาดเสียว (คนที่ใจเสาะกลัวการผ่าตัดโปรดหลีกเลี่ยง) แถมหนังยังไม่มีดนตรีประกอบ ความเงียบกับเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดทรมานจึงเป็นตัวสร้างความกดดันให้แก่คนดูได้อย่างชะงัดนัก

     แต่ว่าหนังไม่ได้สักแต่จะตะบี้ตะบันทรมานกันลูกเดียว หากแต่พูดถึงการต่อสู้กับจิตใจของตัวเองของคุณพ่อ กับการตั้งคำถามว่าการแก้แค้นมันเป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือ แค่ไหนถึงจะพอ และที่สุดคือความแค้นมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย โดยเฉพาะเมื่อเราปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งไปกับมัน

     เสียดายที่หนังดูจะรวบรัดตัดตอนไปในบางช่วง ไม่งั้นคงจะส่งอารมณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลได้เนียนกว่านี้ แต่เอาน่ะ ได้ออกมาขนาดนี้ก็แจ่มแล้ว เป็นหนังดีชวนคิดแถมซาดิสม์ได้ใจอีกต่างหากครั่บ





การแก้แค้นครั้งนี้ได้ไป 6/10 ครั่บ





วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

The Impossible (2012): สึนามินี้ยังมีหวัง




The Impossible (2012): สึนามินี้ยังมีหวัง

     Juan Antonio Bayona ผกก.หนุ่มชาวสเปนแจ้งเกิดจากผลงานหนังยาวเรื่องแรกของเขาที่เป็นหนังสยองน้ำดีอย่าง The Orphanage (2007)

     ส่วนผลงานลำดับต่อมาของเขานี้ ขอพลิกแนวมาทำหนังแนวดราม่า/หายนะจากภัยธรรมชาติ ที่จับเหตุการณ์สึนามิถล่ม เขาหลัก จ.พังงา เมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.2004 มาเล่าผ่านสายตาของครอบครัวๆ หนึ่งซึ่งโชคดีรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

     และหนังก็สามารถหลีกหนีจากการเป็นหนังขายหายนะแบบฮอลลีวู้ดได้ดี โดยเสนอเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างสมจริงสมจังสุดๆ จนต้องทำให้คนดูแทบลืมหายใจในฉากสีนามิถล่ม และไม่พยายามคิดการใหญ่มากไปกว่าเสนอเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ที่ครอบครัวหลักประจำเรื่องต้องเผชิญเท่านั้น

     ที่โดดเด่นและเป็นเสาหลักของหนังคือการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Naomi Watts, Ewan McGregor และหน้าใหม่อย่างหนุ่มน้อย Tom Holland ที่สร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูได้อย่างดี แม้ว่าหนังในบางช่วงจะออกแนวเมโลดร่าม่า จงใจสร้างอารมณ์คั้นน้ำตาไปบ้างก็ตามที (แต่ก็ไม่ได้น่ารำคาญอะไร)

     หนังมาพร้อมทั้งความเศร้าบีบคั้นอารมณ์ ความประทับใจ ความหวัง โดยเฉพาะอย่างหลังที่หนังพยายามจะบอกว่า ถึงแม้มนุษย์เราจะมีแนวโน้มที่จะเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันเสมอมาตั้งแต่อดีตกาล แต่พอเกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายขึ้น เราก็ยังพร้อมที่จะแสดงความดีที่ยังมีอยู่ในจิตใจออกมาเสมอ โดยการยื่นมือให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันแม้ว่าตนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ซึ่งนั่นก็ทำให้มนุยษชาติยังคงยืนหยัดอยู่มาได้แม้จะผ่านเรื่องเลวร้ายมามากแค่ไหนก็ตาม





หนังดีๆ แบบนี้ให้ไปเลยครับ 8/10



ปล.เรื่องจริงครอบครัวที่รอดมาได้นี้เป็นชาวสเปน แต่ผกก.อยากสื่อให้เห็นถึงความเป็นสากลของภัยพิบัติครั้งนั้น เลยเลยไม่ได้กำหนดสัญชาติครอบครัวในหนังให้แน่ชัดและให้พูดภาษาอังกฤษกันซะเลย




วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Argo (2012): ฮอลลีวู้ดช่วยชาติ



Argo (2012): ฮอลลีวู้ดช่วยชาติ

     เมื่อครั้งที่เฮีย Ben Affleck หันมาเอาดีทางกำกับหนังใหม่ๆ กับหนัง Gone Baby Gone (2007) แล้วตัวหนังได้รับคำชมนั้น หลายคนก็กระแนะกระแหนว่าฟลุ๊คมั้ง ครั้นผลงานเรื่องถัดมาอย่าง The Town (2010) ถูกใจนักวิจารณ์แถมทำเงินอีก ก็ยังมิวายถูกค่อนขอดว่าคงโชคช่วยอีกแล้ว

     มาถึงผลงานล่าสุดของเขานี้ก็คงจะทำให้พวกที่เคยดูถูกเขาต้องหุบปากได้เสียที เมื่อหนังได้ทั้งเงินทั้งกล่อง เดินสายคว้ารางวัลจากเวทีประกวดหนังต่างๆ และซิวรางวัลใหญ่จากเวทีลูกโลกทองคำ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในตัวเต็งออสก้าร์ปีนี้อีกด้วย (ได้เข้าชิงตั้งเจ็ดสาขาแน่ะ)

     ซึ่งก็สมควรแล้วล่ะที่หนังจะเป็นที่ต้อนรับจากมหาชนคนดูหนังซะขนาดนี้เพราะของเขาดีจริงอะไรจริง หนังจับความสนใจได้ตลอดแม้ว่าจะเต็มไปด้วยบทสนทนา แถมยังมีอะไรให้ได้ลุ้นใจหายใจคว่ำอีกต่างหาก ส่วนทางด้านนักแสดงก็คัดกันมาแต่ระดับดีหนึ่งประเภทหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่เฮีย Ben อดลุ้นออสก้าร์สาขานำชายและกำกับยอดเยี่ยมไปซะงั้น

     แม้จะขึ้นชื่อว่าสร้างจากเรื่องจริง แต่ด้วยความที่เป็นหนังเลยจำต้องปรับเปลี่ยนอะไรๆ หลายอย่างเพื่อความบันเทิง ดังนั้นอย่าคาดหวังจะเห็นความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ล่ะ (เพราะนี่ไม่ใช่สารคดี) ส่วนในบางฉากก็เห็นถึงการจงใจใส่เหตุการณ์ตื่นเต้นพิมพ์นิยมให้คนดูได้ลุ้น แต่ก็ยังดีที่หนังไม่ได้มีท่าทีตำหนิหรือทำให้ชาวอิหร่านดูเป็นผู้ร้ายใจทรามไปซะหมด

     ก็น่าสนใจที่เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีศักยภาพในการเข้าถึงผู้คนทั้งโลก แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม กันมากขนาดไหนก็ตาม ลองคิดดูสิว่าแม้แต่ อิหร่านในยุคโน้นที่กำลังวุ่นวายและเกลียดชังคนอเมริกันชนิดเข้าไส้ ก็ยังเปิดแขนต้อนรับกองถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเลย


ปล.อยากเห็น Argo เวอร์ชั่นอิหร่านว่าจะออกมายังไงอยู่เหมือนกัน


ทำหนังสามเรื่องก็มาได้ถึงจุดนี้ย่อมแสดงว่าเฮีย Ben มีดีจริงนะ ไม่ได้จับสลากมาดังนะขอบอก จัดไปเลย 8/10 ครับ






*รีวิวหนังของเฮีย Ben Affleck เรื่องอื่นๆ ภายในบล็อก*
  

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

The ABCs of Death (2012): พยัญชนะสยองกิ้ว



The ABCs of Death (2012): พยัญชนะสยองกิ้ว

     รวมมิตรหนังสยองที่มาพร้อมคอนเส็ปท์ แบ่งเป็น 26 เรื่องสั้น (เฉลี่ยความยาวเรื่องละห้านาที) และให้ตั้งชื่อแต่ละเรื่องเรื่องตามตัวอักษรไล่ตั้งแต่ A ไปจนถึง Z โดย ผกก.ไฟแรง 26 คนจาก 15 ประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย) มารับผิดชอบตอนใครตอนมัน ไม่จำกัดไอเดียหรือสไตล์ แต่ขออย่างเดียวว่าทุกเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับความตายนะจ้ะ

     ก็เปิดโอกาสให้ซะขนาดนี้ ดังนั้นจึงจัดเต็มมีกันมาครบครัน ทั้งความโหด ความตลก ความเสื่อม ความบ้า ความเหวอ ความแนว ความอุบาทว์ (โดยเฉพาะบรรดาเรื่องจาก ผกก.ญี่ปุ่น) แนวสะท้อนสังคม ไซไฟ ไปยันแนวอนิเมชั่นก็ยังมีเลย เรียกได้ว่า 26 เรื่องที่มีมาให้นั้นหลากหลายวาไรตี้สุดๆ ไปเลยทีเดียว

     ดูแล้วบางเรื่องก็เจ๋ง บางเรื่องก็บ้าบอ บางเรื่องก็เล่นเอาท้องไส้ปั่นป่วน แต่หลายตอนก็งั้นๆ แล้วแต่ว่าท่านจะชอบยังไง (ส่วนเรื่องของคุณบรรจง พิศาลธนกุล กับตลกร้ายเรียบๆ ที่ค่อนข้างจะเรียบร้อยไปเลยถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ) แต่ด้วยความที่มีเยอะหลายเรื่องจัดกับความยาวทั้งหมดที่กินเวลากว่าสอง ชม. มันก็ทำให้หลายคนรู้สึกล้าจนพาลดูไม่จบเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน (ถ้าทยอยดูทีละเรื่องสองเรื่องล่ะค่อยยังชั่วหน่อย)

     คอหนังสยองที่อยากทำความรู้จัก ผกก.ไฟแรงจากทั่วโลกคงจะได้จับตามองเพิ่มขึ้นอีกหลายคน นับว่าเป็นไอเดียที่ดีในการเปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีพื้นที่แสดงฝีมือเช่นนี้ แต่ขอเตือนว่าหากท่านไม่ใช่คอหนังสยองแบบเข้าเส้นแล้วล่ะก็จะพบว่าหนังเรื่องนี้มันช่างเกินรับจริงๆ นะ เราขอเตือน (หลายตอนเนี่ยเข้าขั้นเรท NC-17 เลย)





ด้วยความที่เราซาดิสม์มาโซคิสม์เป็นทุนเดิมจึงถูกใจให้เลย 6/10 ครั่บ





วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

The Man with the Iron Fists (2012): ไอ้หมัดแร็พโย่



The Man with the Iron Fists (2012): ไอ้หมัดแร็พโย่

     ยอดชายนาย RZA ศิลปินแร็พโย่หลงใหลได้ปลื้มกับหนังกังฟูมาช้านาน ตั้งแต่การตั้งชื่อวงแร็พของเขาอย่าง Wu-Tang Clan (สำนักบู๊ตึ๊ง) ที่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาบ้ากังฟูชนิดเข้าเส้นขนาดไหน และในที่สุดเขาก็สบช่องได้ทำหนังกังฟูสมใจอยากเสียที

     แม้ว่าจะใหม่ในการทำหนัง แถมยังควบหน้าที่ทั้งเขียนบท กำกับ แสดงนำ ทำเพลงประกอบแบบนี้ แต่ด้วยการผนึกลมปราณกับนาย Eli Roth เจ้าของหนังโหดชุด Hostel ที่มาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ งานสร้าง ทีมงาน นักแสดง คิวบู๊ก็อยู่ในระดับไฮโซ หนังเลยออกมาเลยค่อนข้างดูดีมีวิทยายุทธ (แบบฮิปฮอป) ไม่ใช่เล่นเลยล่ะ

     แต่ติดตรงที่ว่าบทหนังที่เหมือนจับเอาหนังจีนกำลังภายในยุคก่อนมายำคลุกรวมกันนั้นไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือเกินคาด ตัวหนังที่มีตัวละครเยอะเรื่องเล่าแยะ แต่มีเวลาจำกัด เลยต้องเล่าแบบฉับๆ อย่างกับจะรีบไปไล่วัวที่ไหน หนังโดยรวมก็เลยดูงั้นๆ จบแล้วก็แล้วกันไปในที่สุด (พระเอก RZA ก็หน้าตาง่วงๆ อยู่ทั้งเรื่องยังไงชอบกลอีกด้วย อิอิ)

     เอาน่ะ เรื่องแรกทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าแจ่มแล้วสำหรับนักดนตรีแร็พสักคนที่อาจหาญมาทำหนังกำลังภายในเช่นนี้ ยังไงก็ดีใจด้วยที่ฝันแกเป็นจริงซะที ส่วนสำหรับเราๆ ท่านๆ การได้ดูหนังกังฟูแร็พโย่แบบนี้ก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบดีเหมือนกัน






5/10 ครับ