Warriors of the Rainbow: Seediq Bale (2011) :
นี่คือภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งไต้หวันประเทศที่ได้ชื่อว่าใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์หนังไต้หวัน คือประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวหนังเองก็ออกมาประสบความสำเร็จอย่างงามงดงามงด กวาดทั้งเงิน (30 ล้านเหรียญ) กวาดทั้งกล่อง ถึงขั้นได้ไปเฉิดฉายที่เทศกาลหนังเวนิส แถมยังได้เข้ารอบ 9 เรื่องสุดท้ายของรางวัลออสก้าร์สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมปีล่าสุดอีกด้วย
Braveheart เวอร์ชั่นไต้หวันมาแล้วจ้า
หนังเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไต้หวัน สมัยครั้งยังถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองเป็นอาณานิคม ในปี ค.ศ.1930 เมื่อชนพื้นเมืองของไต้หวันที่นำโดย Mona Rudao ทนการถูกข่มเหงที่เกิดขึ้นในมาตุภูมิของตนไม่ไหวอีกต่อไป จึงได้ลุกขึ้นมานำกำลัง "ชาวป่า" ที่มีจำนวนพลเพียง 300 คนของเขาลุกขึ้นขับไล่ฆ่าฟันทหารญี่ปุ่นจำนวนนับพัน จนเป็นที่เล่าขานเลื่องลือถึงวีรกรรมอันกล้าหาญมาจนทุกวันนี้
จะชาติไหนพี่ยุ่นก็เที่ยวไปข่มเหงเขาไปทั่ว
ผกก.เหว่ย เต-เฉิง (Cape No.7 [2008]) ขอคิดการใหญ่ในการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของชาวไต้หวันมาขึ้นจอเงิน โดยแบ่งหนังออกมาเป็นสองภาค ซึ่งมีความยาวรวมกันกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง (ป๊าด!) แถมทำเก๋ให้ตัวละครพูดภาษาพื้นเมือง รวมทั้งภาษาญี่ปุ่นทั้งเรื่อง ชนิดที่ว่าแม้แต่คนไต้หวันยังต้องนั่งอ่านซับเอา ส่วนเรื่องความอลังการก็จัดเต็มชนิดที่ดูก็รู้ว่าหนังเรื่องนี้มีองค์ แถมฉากการรบก็ยิ่งใหญ่ปนดุเดือดเลือดพล่านซะตัดหัวกันเป็นว่าเล่น ให้อารมณ์ประมาณเดียวกับหนังอย่าง Braveheart (1995), Apocalypto (2006) หรือ The Last of the Mohicans (1992) ก็มิปาน
ฉากรบดุเดือดเลือดพล่านดีแท้
ทราบมาว่าเรื่องราวของ Mona Rudao มีการนำมาเล่าอย่างแพร่หลายในไต้หวัน ทั้งในคราบของละคร ไปยันหนังสือการ์ตูน แต่ในเวอร์ชั่นนี้ ผกก.เขาก็พยายามค้นคว้ามาอย่างเต็มที่ เพื่อพยายามสร้างหนังให้ออกมาสมจริงที่สุด ซึ่งอันนี้ก็น่าชื่นชมยิ่งนัก แต่ยังไงหนังก็ไม่วายโปรความเป็นวีรบุรุษของ Rudao สุดๆ อยู่ดี อีกทั้งเสนอภาพของพวกญี่ปุ่นซะอย่างกับตัวอิจฉาในละครไทยก็มิปาน และสำหรับคนที่ดูเวอร์ชั่นเต็มที่มีสองภาคจะพบว่า ภาคแรกทำได้ดีกว่า ในขณะที่ภาคสองตอนท้ายๆ ช่างชวนสับสนอยู่บ้างในหลายๆ อย่าง
ดูแล้วไม่รู้จะสมน้ำหน้าหรือสงสารญี่ปุ่นดี
อีกอย่างที่อาจทำให้ไม่ได้ใจคนดูนัก คือการกระทำของพวกพระเอก ซึ่งโหดซะขนาดที่ว่าสังหารทั้งเด็กและสตรีชาวญี่ปุ่นเรียบจนดูเป็นคนป่ากระหายเลือดไปเลย แถมยังมีมุมมองเกี่ยวกับความตายที่ชวนตะหงิดๆ สำหรับคนไทยอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่น้อย แต่ก็นะวิธีคิดและวัฒนธรรมของเรากับพวกเขามันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นตอนดูต้องปล่อยใจให้ว่างนิดนึง จะได้ดูหนังได้ตลอดรอดฝั่งฝัน
วิวทิวทัศน์งดงามดูดีมีชาติการ์ตูน
ใครที่ชอบดูหนังสงครามทางประวัติศาสตร์ล่ะก็คงจะถูกใจกันไม่ยาก เพราะในแง่ความบู๊เขาจัดเต็มจริงๆ ในขณะที่ด้านอื่นๆ ก็ยังมีดีไม่น้อย แม้จะค่อนข้างจะเข้าข้างตนเองไปหน่อยเหอะ (แหม ก็เป็นธรรมดาแหล่ะเนอะ) หนังแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ถึงสงครามจะเป็นเรื่องเลวร้าย ไปจนถึงขั้นดูเหมือนไร้สาระ แต่บางทีมันก็จำต้องเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะชาติไหนๆ ต่างก็ต้องมีการหลั่งเลือดการพลีชีพของบรรพบุรุษเพื่อที่จะมีแผ่นดินให้ลูกหลานอยู่ต่อไปในอนาคต
- + อลังการงานสร้างโดยเฉพาะฉากรบอันแสนดุเดือด พยายามสมจริงสมจังเต็มที่ และให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์
- - ยาวโคตร กว่าจะดูจบเล่นเอาเหนื่อย ภาคสองดูสับสนไปบ้าง และหนังโปรตนเองไปป่าวจ้ะ
*ช่วงอันเนื่องมาจากหนัง*
หน้าตาของ Mona Rudao ตัวจริง (คนกลาง)
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเรา) ไม่ค่อยรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไต้หวันมากนัก (แต่ถ้าเป็น จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี เนี่ยคล่องเชียว อิอิ) โดยเฉพาะศึก Wushe ที่หนังนำมาเสนอนี้ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับชาวไต้หวันมากๆ ประมาณ 'ศึกบางระจัน' ของพี่ไทยเราก็มิปาน ทางบล็อกจึงขอนำข้อมูลย่อๆ ของเหตุการณ์นี้มาแบ่งปันดังนี้
ภาพเขต Wushe ที่เกิดเหตุการณ์นองเลือด
ตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าไปปกครองไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ.1895 ก็เกิดเหตุการลุกฮือต่อต้านจากชาวพื้นเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าเสมอมา แต่ครั้งที่เด็ดดวงที่สุดคงไม่พ้นครั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.1930 เมื่อชาว Seediq ชนชาวพื้นเมืองของไต้หวันโดยการนำของ Moba Rudao ได้ใช้โอกาสที่ชาวญี่ปุ่นจัดให้มีการแข่งกีฬาของเด็กนักเรียนประถมขึ้นมา เขาได้รวบรวมนักรบกว่า 300 คน บุกทำลายสถานีตำรวจเพื่อยึดอาวุธพร้อมกระสุน และยกพวกไปที่โรงเรียนแล้วสังหารโหดชาวญี่ปุ่นไปกว่า 134 ศพ รวมทั้งผู้หญิงและเด็กก็ไม่เว้น (ป๊าด!)
เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นทราบเรื่องจึงส่งกำลังทหารจำนวนกว่า 2,000 นายมาปราบปรามทันที ทางฝ่ายชาว Seediq ก็ถอยร่นเข้าไปในภูเขาแล้วใช้วีธีรบแบบกองโจรคอยตอดเล็กตอดน้อยในเวลากลางคืนจนเล่นเอาทหารญี่ปุ่นเสียกระบวนไปไม่น้อย จึงได้ขอให้เครื่องบินเอาแก๊สน้ำตามาทิ้ง ซึ่งถือเป็นการใช้อาวุธเคมีครั้งแรกในเอเซียเลยก็ว่าได้ และหลังจากต้านทานได้กว่าสามสัปดาห์ Mona Rudao จึงตัดสินใจปลีกวิเวกไปยิงตัวตายในที่สุด เพื่อป้องกันการโดนจับไปทำให้เสียเกียรติ
ต่อมาฝ่ายทหารญี่ปุ่นก็สามารถกำหราบผู้ลุกฮือได้ ซึ่งมีชาว Seediq เสียชีวิตไปกว่า 644 ศพ และฆ่าตัวตายไป 290 ศพ เพราะไม่อยากเสื่อมเสียเกียรติ ถึงแม้หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะยังมีการลุกฮือขึ้นมาอีกเป็นพักๆ แต่ก็ไม่มีครั้งไหนรุนแรงเท่า และค่อยๆ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก่อนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสิทธิของชาวพื้นเมือง กระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไต้หวันได้รับเอกราชเสียที ในปี ค.ศ.1945
ต่อมาฝ่ายทหารญี่ปุ่นก็สามารถกำหราบผู้ลุกฮือได้ ซึ่งมีชาว Seediq เสียชีวิตไปกว่า 644 ศพ และฆ่าตัวตายไป 290 ศพ เพราะไม่อยากเสื่อมเสียเกียรติ ถึงแม้หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะยังมีการลุกฮือขึ้นมาอีกเป็นพักๆ แต่ก็ไม่มีครั้งไหนรุนแรงเท่า และค่อยๆ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก่อนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสิทธิของชาวพื้นเมือง กระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไต้หวันได้รับเอกราชเสียที ในปี ค.ศ.1945
อนุสรณ์ของ Moba Rudao
ด้านศพของ Mona Rudao นั้นกว่าจะมีคนไปพบอยู่บนเขาก็กว่าอีก 3 ปีให้หลัง และถูกนำไปแสดงที่ Taihoku Imperial University เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนรุ่นหลัง จนกระทั่งปี ค.ศ.1974 จึงได้ถูกนำไปฝังอย่างถูกต้องตามประเพณีในแถบบ้านเกิดของเขา ทุกวันนี้ชาวไต้หวันมองเขาเป็นวีรบุรุษของชาติ ถึงขั้นมีรูปของเขาบนเหรียญเงินไต้หวัน มีการเล่าเรื่องราวของเขาแก่คนรุ่นหลังผ่านทางหนังสือ ละคร หนังสือการ์ตูน จนล่าสุดก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นเอง
*คัดข้อมูลแบบย่อๆ มาจาก wikipedia จ้า ผิดพลาดยังไงก็ขออภัยด้วยเน้อ*