วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

A Dangerous Method (2011): ฮิสทีเรียที่รัก


A Dangerous Method (2011) :
การที่ทั่น David Cronenberg ได้รับฉายา 'เจ้าแห่งเลือด' (Baron of Blood) มานั้น ไม่ใช่เป็นเพราะว่าแกขายลาบเลือด ซกเล็ก ที่หน้าปากซอย อะไรที่ไหนหรอกนะ แต่เป็นเพราะว่าแกนิยมทำหนังไซไฟสยองหลอนเหวอหรือหนังที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ทว่าเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุค 70 แล้วต่างหากล่ะ ถึงได้รับการยกย่องเยี่ยงฉะนี้

ดูหน้าแต่ละคนก็รู้ว่าหนังเรื่องนี้ซีเรียส
และแล้วแกก็กลับมาพบกับมิตรรักแฟนหนังอีกครั้งหลังจากเว้นวรรคไปสองสามปี ในหนังดราม่าอัตชีวประวัติคนดังในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับสามนักจิตวิทยาในตำนานอย่าง Carl Jung, Sigmund Freud และ Sabina Spielrein ที่ทั้งหมดต่างมีเหตุให้ต้องมาเกี่ยวพันนัวเนียกัน ทั้งเรื่องงาน เรื่องรัก เรื่องป่วยจิต เรื่องเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ชนิดไม่ไหวจะเคลียร์เลยทีเดียว

เรื่องนี้เจ๊แกลงทุนบ้าชนิดไม่ห่วงสวย
หนังโดดเด่นตรงการได้สามนักแสดงชื่อดังมาประชันบทบาทกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ๊ Keira Knightley ที่กล้าโป๊กล้าบ้าชนิดไม่ห่วงสวย หนุ่ม Michael Fassbender ที่กำลังงานชุกขึ้นหม้อสุดๆ ในยุคนี้ และท่านอารากอน Viggo Mortensen ที่เกี่ยวก้อยลั้นลามากับ ผกก.Cronenberg เป็นเรื่องที่สามติดๆ กัน จนน่าจะกลายเป็นนักแสดงขาประจำของ ผกก.แกไปแล้วล่ะ


หลักๆ ก็เล่นกันอยู่สามคนนี่แหล่ะ
แต่ถ้าจะมองเทียบกับหนังของ ผกก.Cronenberg ส่วนใหญ่แล้ว คราวนี้ดูเหมือนจะมีบางอย่างหายไป ซึ่งนั่นก็คือความรุนแรง ความเหวอ ทำให้หนังเหลือก็เพียงแง่มุมด้านจิตวิทยามานำเสนอเท่านั้น ซึ่งก็จัดมาแบบเต็มๆ เพราะตัวละครมีแต่นักจิตวิทยาตัวพ่อทั้งนั้น ทำให้มีแต่การฉากสนทนาเกี่ยวกับทฤษฏีจิตวิทยาล้วนๆ ในขณะที่เรื่องราวก็เรื่อยๆ มาเรียงๆ ซะจนอาจจะเล่นเอาคนดูเบื่อเอาได้ง่ายๆ

เทียบหน้าตาตัวปลอมและตัวจริง
ถ้าจะถามว่าหนังดีมั้ย ก็บอกได้เลยโดยไม่ลังเลว่าดี คือเต็มไปด้วยข้อมูล ความรู้ การแสดงก็เป็นไปตามมาตรฐานอันดีงามของฝรั่งเขา (แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า เจ๊ Knightley ยังเล่นบทคนป่วยจิตได้ล้นๆ ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือนักนะ) ทว่านี่ไม่ใช่หนังที่ดูเอาสนุกเลย คือหย่อนความน่าติดตามสำหรับคอหนังขาจรทั่วๆ ไป ซึ่งคงจะมีแต่บรรดาผู้มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาและผู้ที่สนใจในด้านนี้เท่านั้นแหล่ะที่คงจะดูเรื่องนี้ได้สนุกกว่าชาวบ้านเขาล่ะนะ ขอบอก
  • + มีสามนักแสดงนำชื่อดังมาเรียกแขก และหนังของ Cronenberg ย่อมดึงดูดคอหนังได้อยู่เสมอ
  • - หนังดี แต่ดูไม่สนุก เต็มไปด้วยบทสนทนา แถมมีแต่เรื่องจิตวิทยาที่สำหรับคนดูทั่วไปแล้ว มันช่างน่าเบื่อสิ้นดีเลย




วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

Courageous (2011): ใจป้ำเพื่อพระเจ้า

Courageous (2011) :
สำหรับในอเมริกาแล้ว ยังมีหนังอีกประเภทหนึ่งที่ถึงจะไม่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ก็ยังขายได้และมีตลาดของมันเอง นั่นก็คือ 'หนังคริสเตียน' ที่มุ่งเน้นส่งเสริมความเชื่อของคริสเตียนเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอยู่แล้วสำหรับประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปเตสแตนท์เช่นนี้


เมื่อตำรวจมาพร้อมกับความเชื่อในพระเจ้า
Alex Kendrick ผู้สร้างที่ขึ้นชื่อในการทำหนังแนวนี้มาตลอดกลับมาพร้อมผลงานล่าสุด ที่คราวนี้ขอพาไปสัมผัสเรื่องราวของตำรวจสี่คน ที่พวกเขาต้องใช้ความเชื่อในการเผชิญกับการสูญเสีย การเป็นพ่อ เป็นผู้นำของครอบครัว หน้าที่การงาน และอะไรอีกมากมายที่ดราม่าชวนน้ำตาซึม ที่สำคัญ ผกก.เขาขอควบบทพระเอกเองซะด้วยนะคร้าบ


เรื่องราวของฝรั่งบ้านๆ เขาล่ะ
คิดว่าหนังบางเรื่องที่ท่านเคยชมนั้น ถ้าคิดดูให้ดีก็คงจะพบว่ามีบางเรื่องที่แฝงประเด็นความเชื่อในพระเจ้ามาไม่มากก็น้อย แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ไม่ต้องคิดซะให้มากเลย เพราะหนังออกมาคริสเตียนจ๋า คือมีการกล่าวถึงการเป็นคริสเตียน การดำเนินชีวิตคริสเตียนแบบจะๆ ซะจนถ้าหากว่าถ้าท่านไม่ใช่คริสเตียนแล้วมาดูเรื่องนี้ก็คงจะรู้สึกว่านี่มันหนังชวนเชื่อของคริสเตียนชัดๆ นี่เอง


หนังเรื่องนี้ขาดแคลนคนหน้าตาดีอย่างแรง
แม้จะนำเสนอแบบเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกประเภทมีแต่คนร้องไห้กันทั้งเรื่องและพูดถึงการเป็นคริสเตียนแบบไม่อ้อมค้อม กับเรื่องราวพื้นๆ บ้านๆ เต็มไปด้วยนักแสดงที่เล่นไม่ค่อยเป็นธรรมชาติไปบ้าง (ถ้าวัดกันตามมาตรฐานของหนังฝรั่ง) แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังมีความตั้งใจอันดี และส่งเสริมความหวัง แง่คิดกำลังใจในการดำเนินชีวิต เหมาะสำหรับคนเป็นพ่อเป็นผู้นำครอบครัวอยู่ไม่ใช่น้อย ดังนั้นเลยพอจะหยวนๆ ได้อยู่ สรุปว่านี่เป็นหนังที่สร้างโดยคริสเตียนเพื่อคริสเตียนด้วยประการทั้งปวงครั่บพี่น้องที่รักทั้งหลาย
  • + เป็นหนังส่งเสริมความเชื่อสำหรับคริสเตียนที่น่าดูอีกเรื่องหนึ่ง
  • - สำหรับคนที่ไม่เชื่อ นี่คือหนังโฆษณาชวนเชื่อที่น่าเบื่อจริงๆ



วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

A Separation (2011): แยกทางรัก


A Separation (2011) :
ถ้าจะถามคอหนังส่วนใหญ่ว่าหนังชาติใดแถบใดที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ดูเลย ส่วนใหญ่ก็คงจะตอบว่าหนังจากแถบตะวันออกกลาง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหนังฝรั่งที่ไปถ่ายทำที่นั่นนะ แต่หมายถึงหนังสัญชาตินั้นๆ จริงๆ เลยล่ะ ด้วยจะเป็นเพราะอุตสาหกรรมหนังของแถบนั้นไม่ค่อยรุ่งเรือง หรือเพราะการปกครองอันเข้มงวดและหลักข้อเชื่อทางศาสนาอันเคร่งครัดก็ตามที จึงไม่แปลกที่หนังแถวนั้นถึงได้ไม่ค่อยมีหลุดออกมาให้เห็นมากนัก


หนังอิหร่านเรื่องนี้เขามีดีจริง
แต่แล้วหนังดราม่าจากอิหร่านเรื่องนี้ก็โผล่ขึ้นมาจับความสนใจจากคอหนังทั้งโลกได้ เมื่อหนังได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นพ้น เดินสายกวาดรางวัลหนังจากเวทีต่างๆ ซึ่งนั่นก็รวมทั้งรางวัลหมีทองคำและรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมที่ส่งผลให้หนังกลายเป็นตัวเต็งออสก้าร์ในสาขานี้โดยทันทีชนิดกางมุ้งรอซิวรางวัลมาแต่ไกลทีเดียวล่ะ


เรื่องราวบ้านๆ ของชาวบ้านอิหร่านเขาล่ะ
ผลงานของ ผกก.Asghar Farhadi เรื่องนี้นั้นมากับเรื่องราวที่แสนจะบ้านๆ มากๆ แต่กลับสามารถตรึงคนดูให้จดจ่ออยู่กับหนังได้ตลอดสอง ชม. ด้วยลีลาการเล่าเรื่องอันเหนือชั้น บทที่แจ่มหลาย การตัดต่อลำดับภาพที่ฉับไวไม่มีเอื่อยเฉื่อย และบรรดานักแสดงที่ล้วนทำหน้าที่ของตนได้อย่างโดดเด่นดึ๋งดั๋ง ซึ่งล้วนส่งให้หนังดูดีเกินห้ามใจทั้งสิ้น


คนอิหร่านมีผมแดงแป๊ดกับเขาด้วย (หรือจะโกรก)
จริงอยู่ที่สภาพวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา สังคมการเป็นอยู่ รูปแบบการใช้ชีวิต อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกมึนๆ กับหนังอยู่บ้าง แต่หนังก็ยังมีอีกหลายอย่างที่คนชาติอื่นๆ สามารถจูนติดได้อยู่ ทั้งเรื่องราวความเหลื่อมล้ำของสังคม การแตกสลายของครอบครัว และประเด็นชวนคิดอีกมากมาย แถมยังทำให้รู้ถึงความเป็นอยู่ของคนอิหร่านและสังคมของพวกเขามากขึ้นอีกด้วย

นักแสดงล้วนเล่นดีไม่เว้นแม้แต่เด็กน้อย
แม้ว่าเราจะตั้งแง่กับตัวหนังไว้แต่แรกว่าจะแน่สักแค่ไหนกันเชียวมาก็ตาม พอได้ดูหนังแล้วก็ต้องยอมศิโรราบให้กับความดีงามของหนังในที่สุด นี่รู้มาว่า ผกก.Farhadi ต้องหาทุนสร้างเองโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือเหลียวแลจากรัฐบาลเลยสักแดง เลยทำให้นึกถึงผู้สร้างหลายคนในบ้านเรา ที่ต้องกระเสือกกระสนหาทุนมาทำหนังเองจากที่อื่น แล้วพอหนังประสบความสำเร็จขึ้นมา รัฐถึงค่อยหันมาชื่นชมบ้าง ซึ่งจะชื่นชมจริงหรือแกล้งชื่นชมนั่นมันก็อีกเรื่องหนึ่งเน้อ เหอๆ
  • + หนังเขาดีจริงอะไรจริง เหมาะแล้วกับรางวัลที่โกยมาเป็นคันรถ (และที่จะได้อีกด้วย)
  • - มากับเรื่องราวบ้านๆ มีแต่คนเถียงกัน และรูปแบบวัฒนธรรมความเชื่ออันแตกต่างก็ชวนให้สับสนอยู่นิดๆ




*รีวิวหนังจากตะวันออกกลางเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจภายในบล็อก*


วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

Anonymous (2011): ยอดกวีนิรนาม


Anonymous (2011) :
เมื่อนีกถึงชื่อของ ผกก.ชาวเยอรมันที่มาได้ดิบได้ดีในฮอลลีวู้ดอย่าง Roland Emmerich เชื่อแน่ว่าเราเกือบทั้งหมดต้องนึกถึงเขาในฐานะเจ้าพ่อหนังแนวถล่มโลกขึ้นมาเป็นแน่ เพราะเขาทำมาหมดแล้วไม่ว่าจะทั้งหนังเอเลี่ยนบุก, หนังก็อตซิล่าถล่มเมือง, หนังวันสิ้นโลก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ต้องมีฉากวินาศสันตะโรถล่มทลายทั้งหลาย ทว่าในผลงานล่าสุดของเขานี้เหมือนเขาจะกินยาผิดขวดหรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะขอทำหนังย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ William Shakespeare และพระราชินี Elizabeth ที่หนึ่งแห่งอังกฤษเลยโน่น (ป๊าด)


Shakespeare คือนอมินีในเรื่องนี้
หนังเสนอทฤษฏีสุดเหวอเกี่ยวกับ Shakespeare ว่าที่แท้งานประพันธ์ทั้งหมดของเขานั้นเป็นผลงานของ Edward de Vere (รับบทโดย Rhys Ifans) ท่านเอิร์ลแห่งอ๊อกฟอร์ดต่างหาก ซึ่งด้วยเหตุผลด้านการเมืองทำให้ท่านเอิร์ลไม่สามารถมีงานประพันธ์ในชื่อของตนเองเป็นอันขาด ทำให้เขาต้องหานอมินีมาสวมสิทธิ์รับเครดิตแทน ซึ่งนั่นก็คือนักแสดงจอมกะล่อนอย่าง William Shakespeare ในขณะเดียวกันเขายังต้องรับมือกับเรื่องราวของการช่วงชิงอำนาจ ความรักต้องห้าม และโศกนาฏกรรมต่างๆ อีกมากมายชนิดที่ดราม่าไม่แพ้เรื่องราวที่เขาประพันธ์ขึ้นมาเลยทีเดียว


พระราชินีอลิซาเบธมาอีกเรื่องแล้วครับทั่น
ถึงผลงานของ ผกก.Emmerich เรื่องนี้จะมาผิดกลิ่น แต่ต้องยอมรับว่าหนังออกมาดูดีกว่าที่คิดไว้ เยอะโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผลงานหนังถล่มเมืองที่ผ่านๆ มาของเขา แม้หนังจะใช้วิธีเล่าเรื่องสลับยุคสมัยไปมาชวนให้สับสนในตอนแรกอยู่บ้าง แต่พอคนดูเริ่มปรับตัวได้จะพบว่าหนังเข้มข้นน่าติดตาม เล่าเรื่องได้อย่างมีชั้นเชิง และเต็มไปด้วยนักแสดงฝีมือแจ่ม แถมงานด้านซีจีบ้านเมืองยุคนั้นก็ทำออกมาได้ยิ่งใหญ่แบบเนียนๆ ไม่โชว์ออฟจนเกินงาม


นักแสดงเก่งๆ เพียบ แต่ไม่ยักมีดังสักคน
กระนั้นถึงหนังจะสร้างออกมาได้ดูดีเกินเงินทุน 30 ล้านเหรียญ แต่ก็ยังเจ๊งแหลกลาญอยู่ดี (ทำเงินได้เพียง 14 ล้าน) ซึ่งอาจเป็นเพราะคนดูคุ้นเคยกับหนังสไตล์ถล่มโลกของเขาเป็นทุนเดิม พอมาเจอแนวนี้เลยขอเมิน รวมทั้งหนังยังไม่มีดารานักแสดงดังๆ ไว้เรียกแขกเลยยิ่งแล้วไปกันใหญ่ นี่ยังไม่นับถึงการที่หนังนำทฤษฏีสมคบคิดเรื่องการอ้างสิทธิ์งานประพันธ์ของ Shakespeare ที่หนังเสนอ ซึ่งคนที่รู้พอประวัติศาสตร์ทั้งหลายคงดูแล้วต้องส่ายหัวด้วยความไม่ปลื้มถึงความมั่วนิ่มจับแพะมาชนแกะของหนังเป็นแน่แท้


เห็นหน้า Rhys Ifans ทีไรนึกถึง Nothing Hill ซะทุกที
อย่างไรก็ดีถ้าเราจะดูหนังเรื่องนี้โดยไม่ใส่ใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากไปกว่าความบันเทิงแล้วจะพบว่านี่เป็นหนังที่ดีน่าชื่นชมอีกเรื่องหนึ่ง และจะนับว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของ ผกก.Emmerich ก็ยังได้ หนังทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นยังไง ใครจะเป็นคนเขียน มันคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะถ้อยคำในบทประพันธ์นั้นๆ ต่างหากที่เป็นอมตะ และไม่มีวันเลือนหายไปกับกาลเวลา แม้จะล่วงเลยไปสักแค่ไหนก็ตาม
  • + เป็นหนังย้อนยุคของ ผกก.Roland Emmerich ที่ทำออกมาได้ดูเพลิน เข้มข้นน่าติดตาม ถือเป็นหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเขาเลยทีเดียว
  • - ขาดนักแสดงดังๆ มาเรียกแขก จับแพะมาชนแกะสร้างทฤษฏีสมคบคิดแบบที่นักประวัติศาสตร์คงได้แต่ส่ายหัวให้ในความมั่ว






A Very Harold & Kumar 3D Christmas (2011): คู่ป่วงคริสตมาสป่วน


A Very Harold & Kumar 3D Christmas (2011) :
กาลครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีดีดักมาแล้วยังมีหนังตลกมึนๆ บ้าๆ ห่ามๆ ประสาคนพี้กัญชา (Stoner film) เล็กๆ เรื่องหนึ่งชื่อ Harold & Kumar Go to White Castle (2004) ที่ถึงแม้ตอนออกฉายจะทำเงินไปเพียงจิ๊บๆ แต่กลับได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะจิตยามเมื่อออกเป็นแผ่นจนขึ้นแท่นหนังคัลต์ขวัญใจนักพี้ไปในที่สุด พอปี 2008 ก็มีการเข็นภาคสองชื่อ Harold & Kumar Escape from Guantanamo Bay ออกมาอีก ซึ่งหนังก็ประสบความสำเร็จไปไม่เลว (เมื่อเทียบกับทุนสร้าง) อีกเช่นเคย


รูปซ้ายอย่างกับมาจากหนัง The Hangover แน่ะ
และปลายปีที่แล้วภาคสามนี้ก็ออกมารับเทศกาลคริสตมาส ซึ่งคราวนี้ผู้สร้างขอคิดการใหญ่โดยมาในรูปแบบ 3D ตามสมัยนิยมเสียด้วย เมื่อ Harold (John Cho) กับ Kumar (Kal Penn) คู่ซี้มหามึนต้องหวนกลับมาร่วมกันผจญภัยสุดป่วงอีกครั้งในคืนวันคริสตมาส ที่รับรองว่าจะทำให้ท่านผู้ชมทั้งหลายฮาแตกฮาแตนน้ำหูน้ำตาไหลแถมฉี่ราดซิบๆ ได้ไม่น้อยกว่าภาคก่อนๆ เลยทีเดียว


Neil Patrick Harris เป็นขาประจำที่ขาดไม่ได้ไปซะแล้ว
ภาคนี้มีการเปลี่ยนตัว ผกก.อีกครั้งเป็น Todd Strauss-Schulson แต่ยังคงใช้ทีมเขียนบทเดิมอยู่ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะฮาน้อยลง หนังออกมาบ้าบอ ฮาแตก สัปดน ไร้สาระ เต็มไปด้วยยาเสพติดและนม (แต่ไม่มากเท่าภาคที่แล้ว) คือมีทุกสิ่งที่แฟนๆ แนวนี้ต้องการ ซึ่งตัว ผกก.เขาก็เล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล และใช้ทั้ง อนิเมชั่น เพลง รวมทั้งการเล่นกับความเป็นสามมิติอย่างประเจิดประเจ้อ ไม่อ้อมค้อมแต่ประการใด มาช่วยสร้างสีสัน ความรั่ว ให้กับตัวหนังได้มากมายยิ่งนัก

คู่ป่วงประจำเรื่อง
ในขณะที่บรรยากาศช่วงคริสตมาสในท้องเรื่องก็ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับตัวหนัง และทำให้เราได้สัมผัสด้านอ่อนโยนของพวกเขาอีกด้วย มุกต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ขำดีไม่ค่อยแป๊ก มุกการล้อเลียนตัวตนจริงของบรรดานักแสดงในเรื่อง เช่นในรายของ Neil Patrick Harris ที่กลับมาเป็นแขกรับเชิญอีกครั้ง ก็จับเอามุกที่เขาออกมาประกาศเป็นเกย์ในชีวิตจริงมาเล่นได้อย่างน่ารักน่าหยิก รวมถึงนักแสดงจากภาคก่อนๆ ที่ผลัดกันโผล่มาสร้างสีสันให้ได้หายคิดถึงอย่างครบครัน


นักแสดงชุดเก่าชุดใหม่ตบเต้ามาร่วมฮาเพียบ
ต้องบอกว่าหนังรั่วๆ แบบนี้ ไม่ใช่หนังที่เหมาะจะมองหาเหตุผลหรือจะซีเรียสกับมันเลย แต่หากท่านมองหาความฮาแบบไม่ต้องคิดมาก มึนๆ เมาๆ แบบที่ดูไปพี้ยาไปจะได้อรรถรสในการรับชมมาก คนที่เคยชื่นชอบภาคก่อนๆ จะรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อเก่าที่ห่างหายจากกันไปนาน ซึ่งการมาพบกันอีกครั้งเรายังพบว่าพวกเขาไม่ได้เห่ยลงแต่ประการใด แถมยังจะดูดีกว่าที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว และแน่นอนว่าเรายังรอคอยการกลับมาเป็นครั้งที่สี่ของพวกเขาด้วยใจจดจ่ออย่างแน่นอน
  • + ภาคนี้ยังคงออกมาฮาแตกเช่นเดิม หนังสัปดนน้อยลง อบอุ่นมากขึ้น เป็น 3D ด้วยนะเออ
  • - ไม่เหมาะที่จะดูแบบซีเรียส เพราะหนังไร้สาระ บ้าบออย่างแรง และสัปดนน้อยลงจนแฟนบางคนอาจไม่สะใจเอา




*รีวิวหนังแนว stoner film เรื่องอื่นๆ ภายในบล็อก*